วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เรื่องกล้วย.......กล้วย.........

กล้วย


กล้วย เป็นพืชพื้นบ้านของไทยที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทุกยุคทุกสมัย เพราะทุกส่วนของกล้วยสามารถนำมาใชประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ขนม ของตกแต่ง กระทง หรือภาชนะ

ถิ่นกำเนิดของกล้วย (First Home)

กล้วยเป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้น ถิ่นแรกของกล้วยจึงอยู่แถบเอเชียตอนใต้ ซึ่งจะพบกล้วยพื้นเมืองทั้งที่มีเมล็ดและไม่มีเมล็ด และจากผลของการย้ายถิ่นฐานในการทำมาหากิน การอพยพประชากรจากเอเชียตอนใต้ไปยังหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่ต้นคริสต์ศักราชเป็นต้นมา ในการอพยพแต่ละครั้งจะต้องมีการนำเอาเสบียงอาหารติดตัวไปด้วย จึงได้มีการนำเอากล้วยไปปลูกแถบหมู่เกาะฮาวายและหมู่เกาะทางด้านตะวันออก

สำหรับประวัติกล้วยในประเทศไทย เข้าใจว่าประเทศไทยเป็นแหล่งกำเนิดของกล้วยป่าและต่อมาได้มีการนำเข้ากล้วยตานี และกล้วยชนิดอื่นในช่วงที่มีการอพยพของคนไทยในการตั้งถิ่นฐานอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย มีเอกสารกล่าวว่าในสมัยอยุธยาพบว่ามีกล้วยร้อยหวี



ลักษณะทั่วไป
กล้วย เป็นไม้ผล ลำต้น เกิดจากกาบหุ้มซ้อนกัน สูงประมาณ 2 – 5 เมตร
ใบ เป็นใบเดี่ยว เกิดกระจายส่วนปลายของลำต้นเวียนสลับซ้ายขวาต่างระนาบกัน ก้านใบยาว แผ่น ใบกว้าง เส้นของใบขนานกัน ปลายใบมน มีติ่ง ผิวใบเรียบลื่น ใบมีสีเขียวด้านล่างมีไขนวลหรือแป้งปกคลุม เส้นและขอบใบเรียบ ขนาดและความยาวของใบขึ้นอยู่กับแต่ละพันธุ์
ดอก เป็นดอกห้อยลงมายาวประมาณ 60 – 130 ซม. ซึ่งเรียกว่าหัวปลี ตามช่อจะมีกาบหุ้มสีแดงเป็นรูปกลมรี ยาว 15 – 30 ซม. ช่อดอกมีเจริญก็จะกลายเป็นผล ผล เป็นผลสดจะประกอบด้วยหวีกล้วย เครือละ 7 – 8 หวี แต่ละหวีมีกล้วยอยู่ประมาณ 10 กว่าลูก ขนาดและสีของกล้วยจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามชนิดของแต่ละพันธุ์ บางชนิดมีผลสีเขียว , เหลือง , แดง แต่ละต้นให้ผลครั้งเดี่ยวเท่านั้น เมล็ด มีลักษณะกลมขรุขระ เปลือกหุ้มเมล็ดมีสีดำ หนาเหนียวเนื้อในเมล็ดมีสีขาว
ขยายพันธุ์ ด้วยการแยกหน่อ หรือแยกเหง้า
รสชาติ รสฝาด

ประโยชน์

ทางด้านอาหาร เป็นไม้ผลนำมาบริโภค ใบนำมาห่อขนม หรือส่วนของลำต้น ใบนำมาทำกระทง ก้านนำมาประดิษฐ์เป็นของเล่น
ประโยชน์ทางสมุนไพร ยางกล้วยจากใบใช้ห้ามเลือด โดยหยดยางลงบนแผล ใช้กล้วยดิบทั้งลูกบดกับน้ำให้ละเอียด และใส่น้ำตาล รับประทาน แก้โรคท้องเสีย แผลในกระเพาะอาหารไม่ย่อย ผลสุกให้เป็นอาหารเป็นยาระบายที่เป็นโรคริดสีดวงทวาร อุจาจาระแข็ง หัวปลี แก้โรคลำไส้ แก้โรคโลหิตจาง และลดน้ำตาลในเลือด


รูปร่างและลักษณะของกล้วยแต่ละชนิดในประเทศไทย
เนื่องจากกล้วยแต่ละชนิดมีรูปร่างและลักษณะเฉพาะตัว ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องแจกแจงให้เกิดความเด่นชัดของกล้วยแต่ละชนิดไว้ดังต่อไปนี้ :

• กล้วยสกุล Musa : มีการแตกหน่อและใช้ผลรับประทานได้

กล้วยสกุล Musa ในหมู่ Callimusa: ที่พบในประเทศไทยขณะนี้มีชนิดเดียว คือ

กล้วยป่าชนิด Musa gracilis Horltt. ชื่ออื่นๆ กล้วยทหารพราน หรือกล้วยเลือด

กล้วยชนิดนี้ มีลำต้นเทียมสูง 0.6 – 2 เมตร โคนต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 เซนติเมตร กาบและใบมีปื้นสีม่วงเข้ม ใบกว้าง 25-35 เซนติเมตร ยาว 90-150 เซนติเมตร สีเขียว มีนวล ก้านใบยาว 30-70 เซนติเมตร ช่อดอกตั้งยาว 60 เซนติเมตรหรือกว่านั้น ก้านช่อดอกมีขนสั้นปกคลุมหนาแน่น ดอกตัวเมียสีขาวหม่น ปลายสีเขียว ยาว 2.5-4 เซนติเมตร เรียวชิดกัน 3-8 แถว แถวหนึ่ง มี 2-4 ดอก ใบประดับกว้างประมาณ 4.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15 เวนติเมตร สีม่วงปลายสีเขียว อาจร่วงหลุดไปก่อนบ้าง ดอกตัวผู้สีเหลือง ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ผลตรง สีเขียว มีนวลและมีทางสีม่วงตามยาวของผล ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.5 เซนติเมตร เป็นเหลี่ยม 2-3 เหลี่ยม ปลายทู่ ก้านผลยาวประมาณ 2 เซนติเมตร เมื่อยังอ่อนมีขนประปราย แก่แล้วผิวเกลี้ยง

กล้วยป่าชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ในท้องที่จังหวัดยะลาและนราธิวาส ขึ้นในป่าดิบชื้น ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย ชาวมลายูเรียกว่าปีชังกะแต ปีชังเวก และปีชังโอนิก



กล้วยสกุล Musa ในหมู่ Eumusa: ในประเทศไทยมี 3 ชนิด คือ

กล้วยป่า ( Musa acuminata Colla) ชื่ออื่น ๆ กล้วยแข้ ( เหนือ ). กล้วยเถื่อน ( ใต้ ). กล้วยลิง ( อุตรดิตถ์ ). กล้วยหม่น ( เชียงใหม่ )

กล้วยป่า มี ลำต้นเทียมสูง 2.5 – 3.5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางต่ำกว่า 15 เซนติเมตร กาบลำต้นนอกมีปื้นดำ มีนวลเล็กน้อย ส่วนด้านในสีแดง ก้านใบสีชมพูอมแดงมีจุดดำ มีครีบเส้นกลางใบสีเขียว ใบชูขึ้นค่อนข้างตรง ก้านช่อดอกมีขนอ่อน ๆ มาก ใบประดับรูปค่อนข้างยาว ปลายแหลมด้านบนสีม่วงอมแดง มีนวล ด้านล่างที่โคนสีแดงจัด เมื่อใบกางตั้งขึ้นจะเอนไปด้านหลัง และม้วนงอเห็นได้ชัด การเรียงของใบประดับช่อดอกไม่ค่อยช้อนมาก และจะมีลักษณะนูนขึ้นที่โคนของใบประดับ เห็นเป็นสันชัดเจนเมื่อใบประดับหลุดออก ดอกย่อยมีก้านดอกสั้น ผลมีก้านและมีขนาดเล็ก รูปร่างของผลมีหลายแบบแล้วแต่ชนิดย่อย (Subspecies) บางชนิดมีผลโค้งงอ บางชนิดไม่โค้งงอ ผลมีเนื้อน้อยสีขาว รสหวาน มีเมล็ดจำนวนมาก สีดำ ผนังหนา และแข็ง

กล้วยป่าที่พบในประเทศไทยมี 4 ชนิดย่อย (Subspecies) คือ

• Musa acuminata Colla ssp. siamea Simmonds

• M. acuminata Colla ssp. burmanisa Simmonds

• M. acuminata Colla ssp. malaccensis (Ridl.) Simmonds

• M. acuminata Colla ssp. microcarpa (Becc.) Simmonds

กล้วยเหล่านี้พบว่าขึ้นอยู่ทั่วไปในป่าดิบ มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย กล้วยชนิดนี้ นอกจากขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อแล้ว ยังใช้เมล็ดปลูกได้ ผลของกล้วยป่าเมื่อสุกกินได้ แต่ไม่นิยมเพราะมีเมล็ดมาก ผลอ่อนและหัวปลีรับประทานได้

กล้วยตานี ( Musa balbisiana Colla) ชื่ออื่น ๆ กล้วยงู ( พิจิตร ): กล้วยชะนีใน . กล้วยตานีใน . กล้วยป่า . กล้วยเมล็ด ( สุรินทร์ ): กล้วยพองลา ( ใต้ )

กล้วยตานี ลำต้นเทียมสูง 3.5-4 เมตร เว้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร สีเขียว ไม่มีปื้นดำ กาบลำต้นด้านในสีเขียว ก้านใบสีเขียว เส้นกลางใบสีเขียวไม่มีร่อง ก้านช่อดอกสีเขียวไม่มีขน ใบประดับรูปค่อนข้างป้อม มีความกว้างมาก ปลายมน ด้านบนสีแดงอมม่วง มีนวล ด้านล่างสีแดงเข้มสดใส เมื่อใบประดับกางขึ้นตั้งฉากกับช่อดอกและไม่ม้วนงอ ใบประดับแต่ละใบซ้อนกันลึก เครือหนึ่งมีประมาณ 8 หวี หวีหนึ่งมี 10-14 ผล ผลป้อมขนาดใหญ่ มีเหลี่ยมเห็นชัดเจน ลักษณะคล้ายกล้วยหักมุกแต่ปลายทู่ ก้านผลยาว ผลเมื่อสุกผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เนื้อมีรสหวาน มีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดใหญ่สีดำ ผนังหนา แข็ง

กล้วยตานีที่พบในประเทศไทยมี 3 ชนิด แตกต่างที่ลำต้นเทียมและผล กล่าวคือกล้วยตานีพบทางภาคเหนือนั้น ลำต้นเทียมเกลี้ยงไม่มีปื้นดำเลย ผลจะสั้น ป้อม ส่วนตานีอีสานจะมีลำต้นเทียมที่มีประดำเล็กน้อย ผลคล้ายกล้วยน้ำว้า แต่ตานีทางภาคใต้ ลำต้นเทียมค่อนข้างจะมีปื้นดำหนา ผลคล้ายตานีเหนือแต่นาวกว่า และมีสีเขียวเป็นเงา นอกจากนี้ยังได้มีการนำตานีดำมาจากฟิลิปปินส์ แต่ตานีดำนี้เป็นพันธุ์พื้นเมืองของอินโดนีเซีย ลำต้นเทียมสีม่วงดำและเส้นกลางใบสีม่วงดำสี

เข้มมากจนดูเหมือนสีดำ ผลสีเขียวเข้มเป็นมันมีลักษณะคล้ายตานีใต้ มีเมล็ดมาก



กล้วยหก ( Musa itinerans Cheeseman) , กล้วยแดง ชื่ออื่น ๆ กล้วยอ่างขาง

กล้วยหกเป็นกล้วยป่าอีกชนิดหนึ่งใน section Eumusa ลำต้นเทียมสูงประมาณ 2.5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกสีเขียวอมเหลืองมีประดำเล็กน้อย ด้านในสีเหลืองอ่อน ก้านในสีเขียวอมเหลืองและมีประเล็กน้อยมีปีก เส้นกลางใบสีเขียวก้านช่อดอกมีขน ใบประดับรูปไข่ ปลายมน ด้านบนสีเหลืองอมม่วงเข้ม ไม่มีนวล ด้านล่างสีครีม แต่ละใบเรียงซ้อนกันลึกและมีสันตื้นเมื่อใบประกอบหลุด เครือหนึ่งมี 5-7 หวี หวีหนึ่งมี 9-13 ผล ผลป้อม ปลายทู่ โคนเรียว ก้านผลยาวเกือบเท่าความยาวของผล เนื้อสีเหลืองและมีเมล็ด

กล้วยหกมีผลสีเขียวผลเล็ก ส่วนกล้วยแดงมีผลใหญ่กว่านิดหน่อยและเปลือกสีแดงพบมากในทางภาคเหนือ เช่น ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก และที่ดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ ปลีรับประทานได้



สำหรับกล้วยกินได้ มีดังนี้

กล้วยไข่ ‘Kluai Khai' ชื่ออื่น ๆ กล้วยกระ ชื่อสามัญ Pisang Mas

กล้วยไข่มีลำต้นเทียมสูงไม่เกิน 2.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 16 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกสีเขียวปนเหลือง มีประดำหนา ด้านในสีชมพูแดง ก้านใบสีเขียวอมเหลือง มีร่องกว้าง โคนก้านใบมีปีกสีชมพู ก้านช่อดอกมีขนอ่อน ใบประดับรูปไข่ ม้วนงอขึ้น ปลายค่อนข้างแหลม ด้านบนสีแดงอมม่วง ด้านล่างที่โคนกลีบสีซีด กลีบรวมใหญ่สีขาว ปลายสีเหลือง กลีบรวมเดี่ยวไม่มีสี เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียมีความยาวใกล้เคียงกันแต่เกสรตัวเมียสูงกว่าเล็กน้อย เกสรตัวเมียมีสีเหลือง ส่วนเกสรตัวผู้มีสีชมพู เครือหนึ่งมีประมาณ 7 หวี หวีหนึ่งมีประมาณ 14 ผล ผลค่อนข้างเล็ก กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 8-10 เซนติเมตร ก้านผลสั้นเปลือกค่อนข้างบาง เมื่อสุกมีสีเหลืองสดใส บางครั้งมีจุดดำเล็ก ๆ ประปราย เนื้อสีครีมอมส้ม รสหวาน

กล้วยไข่ปลูกกันมากเป็นการค้าที่จังหวัดกำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ เพชรบุรี และปลูกทั่ว ๆ ไปในสวนหลังบ้านในทุกภาคของประเทศไทย เพราะเป็นกล้วยที่รสชาติดี และใช้ในเทศกาลสารทไทย ผลรับประทานสด และเป็นเครื่องเคียงของข้าวเม่าคลุก และกระยาสารท นอกจากนี้ยังใช้ทำกล้วยเชื่อม ข้าวเม่าทอด และกล้วยบวชชี ปัจจุบันกล้วยไข่เป็นสินค้าออกที่ส่งไปยังประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่นและฮ่องกง



กล้วยไข่ทองร่วง ‘Kluai Khai Thoung Roung']

มีความสูงไม่เกิน 2.5-3.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นน้อยกว่า 15 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกมีประดำปานกลาง พื้นด้านในมีสีแดงเรื่อ ๆ ปน ก้านใบเปิด มีสีแดงปนค่อนข้างชัดเจน

พู่ ก้านช่อดอกมีขนอ่อน ใบประดับรูปร่างค่อนข้างยาว ปลายแหลม ใบประดับม้วนขึ้น ด้านนอกสีม่วงแดง มีนวลปานกลาง ด้านในซีดเล็กน้อย กลีบรวมเดี่ยวใสและมีรอยย่น ส่วนกลีบรวมใหญ่สีครีม ปลายสีเหลือง ผลมีขนาดเล็กใกล้เคียงกับกล้วยไข่ เมื่อสุกมีผิวสีเหลือง ก้านช่อดอกมีขน เครือชี้ออกทางด้านข้าง เครือหนึ่งมีมากกว่า 7 หวี หวีหนึ่งมี 10-16 ผล น้ำหนักผลหนักประมาณ 87 กรัม มีรสหวาน เมื่อสุกเต็มที่ผลมักร่วง



กล้วยเล็บมือนาง ‘Kluai Leb Mu Nang' ชื่ออื่น ๆ กล้วยข้าว . กล้วยเล็บมือ ( สุราษฎร์ธานี ): กล้วยทองดอกหมาก ( พัทลุง ) กล้วยหมาก ( นครศรีธรรมราช )

กล้วยเล็บมือนางมีลำต้นสูงเทียมไม่เกิน 2.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 15 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกสีชมพูอมแดง มีประดำหนา ด้านในสีชมพูอมแดง ก้านในสีชมพูอมแดง ใบตั้งขึ้น มีร่องกว้าง มีปีก เส้นใบสีชมพูอมแดง ก้านช่อดอกมีขน ใบประดับรูปไข่ค่อนค้างยาว ม้วนงอขึ้นปลายแหลม ด้านบนสีแดงอมม่วง ด้านล่างสีแดงซีด ดอกตัวผู้หลุดร่วงไปหลังจากใบประดับร่วง ดอกตัวผู้มีสีครีม ดอกตัวเมียสีชมพูอ่อน ปลายสีเหลือง ก้านเกสรตัวเมียตรง เกสรตัวผู้มีความยาวกว่าเกสรตัวเมีย กลีบรวมใหญ่มีสีเหลืองอ่อน ปลายสีเหลือง กลีบรวมเดี่ยวใสไม่มีสี ปลายหยัก เครือชี้ออกทางด้านข้าง เครือหนึ่งมี 7-8 หวี หวีหนึ่งมี 10-16 ผล ผลเล็ก กว้าง 2-2.5 เซนติเมตร รูปโค้งงอปลายเรียวยาว ก้านผลสั้น เปลือกหนา เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง และยังมีก้านเกสรตัวเมียติดอยู่ กลิ่นหอม เนื้อในสีเหลือง รสหวาน

กล้วยเล็บมือนางนิยมปลูกในแถบภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร ปัจจุบันปลูกทั่ว ๆ ไปในสวนหลังบ้าน เพราะเป็นกล้วยที่มีรสชาติดีชนิดหนึ่ง

กล้วยหอมจันทร์ ‘Kluai Homchan'

กล้วยหอมจันทร์มีลำต้นเทียมสูง 2.5-3.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกสีชมพูอมแดง มีประดำเล็กน้อย ด้านในสีชมพูอมแดง ก้านใบสีชมพูอมแดง ตั้งขึ้น มีร่องกว้าง มีปีก เส้นใบสีชมพูอมแดง ก้านช่อดอกมีขน ใบประดับรูปไข่ค่อนค้างยาวม้วนงอขึ้น ปลายแหลม ด้านบนสีแดงอมม่วง ด้านล่างสีแดงซีด เครื่องหนึ่งมีประมาณ 7 หวี หวีหนึ่งมีประมาณ 14 ผล ผลเล็ก กว้าง 2-2.5 เซนติเมตร ยาว 9-11 เซนติเมตร รูปคล้ายกล้วยเล็บมือนาง แต่ปลายผลไม่เรียวแหลม มีจุกสั้นเมื่อเทียบกับขนาดของผล ก้านผลสั้น เปลือกหนากว่ากล้วยเล็บมือนาง เมื่อสุกมีสีเหลืองคล้ายกัน กลิ่นหอมเย็น เนื้อสีเหลือง รสหวาน

กล้วยหอมจันทร์ปลูกทางภาคเหนือ ส่วนใหญ่ปลูกในสวนหลังบ้าน และปลูกเป็นการค้าทางภาคใต้



กล้วยไล ‘Kluai Lai'

ลำต้นเทียมมีความสูงประมาณ 2.5-3.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 15 เซนติเมตร ลำต้นมีประดำปานกลาง มีไขปานกลาง กาบลำต้นด้านในมีสีชมพูปน ก้านใบเปิดกว้างมีปีกเล็กน้อยและมีสีเขียว ปนชมพู เส้นก้านใบสีเขียว ก้านช่อดอกมีขน เครืออกชี้ทางด้านข้าง ส่วนปลีห้อยลง ปลีมีใบประดับรูปไข่ยาว ปลายแหลม มีสีม่วงเข้ม ไม่มีไข ปลายม้วนขึ้น เครือหนึ่งมีน้อยกว่า 7 หวี หวีหนึ่งมี 10-16 ผล ผลขนาดเล็ก ผลเมื่อสุกมีสีส้มอมเหลือง รสหวาน



กล้วยสา ‘Kluai Sa'

ลำต้นเทียมมีความสูงประมาณ 2.5-3.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 15 เซนติเมตร ลำต้นเทียมด้านนอกสีเขียวเข้มมีจุดดำประน้ำตาลเข้มมากและมีนวลปานกลาง ด้านในสีออกชมพู ก้านใบมีนวลมากมีสีม่วงแดงเข้ม ทั้งด้านล่างและขอบใบ ก้านช่อดอกมีขน ใบประดับมีรูปไข่ รูปร่างยาวปลายแหลม เครือห้อยลง เครือหนึ่งมีมากกว่า 8 หวี หวีหนึ่งมี 18-22 ผล ผลมีขนาดเล็ก กว้างประมาณ 3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 9 เซนติเมตร ผลหนึ่งหนัก 80-90 กรัม



กล้วยทองขี้แมง ‘Thong Khi Meew'

ลำต้นเทียมมีความสูงประมาณ 2.5-3.0 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 15 เซนติเมตร ลำต้นเทียมด้านนอกสีเขียวเข้มมีจุดประสีน้ำตาลเข้มจำนวนมาก และมีนวลมาก ด้านในสีออกชมพู ก้านใบมีสีเขียวมีปีกสีชมพู ก้านช่อดอกมีขน ปลีมีใบประดับรูปไข่ยาว ปลายแหลม และม้วนขึ้น ใบประดับมีสีแดงเทาไม่มีไข กลีบรวมใหญ่สีขาว ปลายสีเหลือง กลีบรวมเดี่ยวใสไม่มีสี ดอกตัวผู้และตัวเมียมี ใบประดับมีรูปร่างเรียวยาว ปลายแหลม ด้านในสีซีด ดอกตัวเมียมีความสูงมากกว่าดอกตัวผู้ เครือกล้วยชี้ไปทางด้านข้างรวมทั้งปลี เครือหนึ่งมี 7 หวี หวี หนึ่งมี 10-16 ผล ผลเมื่อสุกมีสีเหลืองอมส้ม มีเมล็ด



กล้วยทองกาบดำ ‘Kluai Thong Kab Dam'

ลำต้นเทียมมีความสูง 2.5-3.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 15 เซนติเมตร มีประดำปานกลาง กาบลำต้นด้านในมีสีชมพู ก้านใบมีปีกและมีสีชมพู เส้นกลางใบสีเขียว ก้านช่อดอกมีขนเล็กน้อย เครือออกทางด้านข้างขนานกับพื้นดินรวมทั้งปลีด้วย ก้านเครือมีขน ปลีมีรูปไข่ยาว ปลายแหลม มีไขปานกลาง สีม่วงเข้ม ปลีม้วนขึ้น เครือหนึ่งมี 7-8 หวี หวีหนึ่งมีผลไม่เกิน 16 ผล ผลสุกสีเหลืองอมส้ม ผลมีขนาดไม่ใหญ่



กล้วยน้ำไท ‘Klaui Nam Thai'

กล้วยน้ำไทมีลำต้นเทียมสูงไม่เกิน 2.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 15 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกมีประดำหนา ที่โคนมีสีชมพูอมแดง ด้านในสีชมพูอมแดง ก้านใบตั้งขึ้น มีร่องกว้าง มีปีกสีชมพู เส้นใบสีชมพูอมแดง ก้านช่อดอกมีขน ใบประดับรูปไข่ค่อนข้างยาวม้วนงอขึ้น ปลายแหลม ด้านบนสีม่วงอมแดง ด้านล่างสีซีด เครือหนึ่งมีประมาณ 5 หวี หวีหนึ่งมี 12-18 ผล ผลคล้ายกล้วยหอมจันทร์ ขนาดใกล้เคียงกัน กว้าง 2 –2.05 เซนติเมตร ยาว 10-11 เซนติเมตร ผลไม่งอโค้งเท่ากล้วยหอมจันทร์ มีหัวจุกใหญ่แต่เล็กกว่าหอมจันทร์ ที่ปลายจุกมักมีก้านเกสรตัวเมียติดอยู่ เปลือกหนากว่าหอมจันทร์ มีกลิ่นหอมเย็น เมื่อสุกสีเหลืองเข้มกว่ากล้วยหอมจันทร์และมีจุดดำเล็ก ๆ คล้ายจุดของกล้วยไข่ กลิ่นหอม เนื้อสีเหลืองส้ม รสหวาน



กล้วยน้ำนม ‘Klaui Nam Nom'

ลำต้นเทียมมีความสูงน้อยกว่า 2.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 15 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านในสีเขียว มีไขมาก ก้านใบมีปีกเป็นสีชมพูเล็กน้อย เส้นกลางใบสีเขียว เครือออกขนานกับพื้นดินส่วนปลีห้อยลง ก้านเครือมีขน ปลีมีใบประดับรูปไข่ยาว สีแดงอ่อน ปลายแหลม มีไขปานกลาง ใบประดับม้วนขึ้น เครือหนึ่งมีน้อยกว่า 7 หวี หวีหนึ่งมี ประมาณ 10 ผล



กล้วยหอมสั้น ‘Kluai Hom Son'

ลำต้นเทียมมีความสูงน้อยกว่า 2.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 15 เซนติเมตร ลำต้นมีประดำและไขปานกลาง กาบลำต้นด้านในมีสีชมพู ก้านใบมีปีกเป็นสีชมพู เส้นกลางใบสีเขียว เครือออกทางด้านข้างขนานกับดินรวมทั้งปลีด้วย ก้านช่อดอกมีขนเล็กน้อย ปลีมีใบประดับรูปไข่ยาว ปลายแหลม สีม่วงเข้ม ปลายม้วนขึ้น เครือหนึ่งมีน้อยกว่า 7 หวี หวีหนึ่งมี 10-16 ผล ผลสุกมีสีเหลืองอมส้ม มีขนาดใกล้เคียงกับกล้วยน้ำว้าแต่รูปร่างเหมือนกล้วยไข่ รสหวาน

ไม่มีความคิดเห็น: