วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2552

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ถือกำเนิดจาก "โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน" ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อปี พ.ศ. 2442 พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ "พระเกี้ยว" มาเป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน การดำเนินงานของโรงเรียนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 (ขณะนั้นนับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ นับอย่างใหม่ต้องเข้าปี พ.ศ. 2460) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย และพระราชทานนามว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถของพระองค์ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2460 ถึงปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีผู้บัญชาการและอธิการบดีดำรงตำแหน่งมาแล้ว 16 คน อธิการบดีคนปัจจุบัน คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับยกย่องเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์การแพทย์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์และได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาในระดับดีมาก จาก สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ปัจจุบัน เปิดการเรียนการสอนใน 18 คณะ 1 สำนักวิชา บัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัย และสถาบันต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 492 สาขาวิชา หลักสูตรนานาชาติและภาษาอังกฤษ รวมทั้งสิ้น 70 สาขาวิชานอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งสถาบันวิจัยขึ้นภายในมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งเพื่อดำเนินการวิจัยในศาสตร์ต่าง ๆ ด้วย
ในอดีต ผู้ที่จบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช แต่ในปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประวัติ


พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือกำเนิดจาก “โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2442 ณ ตึกยาว ข้างประตูพิมานชัยศรี ในพระบรมมหาราชวัง ด้วยมีพระราชปรารภที่จะทรงจัดการปกครองพระราชอาณาจักรให้ทันกาลสมัย จึงจัดตั้งโรงเรียนเพื่อฝึกหัดนักเรียนสำหรับรับราชการปกครองขึ้นในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับราชการใกล้ชิดพระองค์ และด้วยประเพณีโบราณที่ข้าราชการจะถวายตัวเข้าศึกษางานในกรมมหาดเล็ก ก่อนที่จะออกไปรับตำแหน่งในกรมอื่น ๆ ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามโรงเรียนเป็น “โรงเรียนมหาดเล็ก” เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2445
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริที่จะขยายการจัดการศึกษา เพื่อผลิตนักเรียนไปรับราชการในกระทรวง ทบวง กรมอื่น ๆ ไม่เฉพาะกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนมหาดเล็กเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน โดยใช้วังวินด์เซอร์ เป็นสถานที่ประกอบการเรียนการสอน และสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2453 พร้อมทั้ง พระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำริจัดตั้งขึ้น และได้ใช้เงินคงเหลือจากการที่ราษฎรเรี่ยรายกันเพื่อสร้างพระบรมรูปทรงม้านั้น มาใช้เป็นทุนของโรงเรียนแห่งนี นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดที่ดินพระคลังข้างที่รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 1,309 ไร่เป็นเขตโรงเรียนโดยมีการจัดการศึกษาใน 5 โรงเรียน (คณะในปัจจุบัน) ได้แก่ โรงเรียนรัฎฐประศาสนศาสตร์ โรงเรียนคุรุศึกษา โรงเรียนราชแพทยาลัย โรงเรียนเนติศึกษา และโรงเรียนยันตรศึกษาต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริ เห็นสมควรที่จะขยายการศึกษาในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น คือ ไม่เฉพาะสำหรับผู้ที่จะเล่าเรียนเพื่อรับราชการเท่านั้น แต่ผู้ใดที่มีความประสงค์จะศึกษาขั้นสูงก็สามารถเข้าเรียนได้ทั่วถึงกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เพื่อเป็นอนุสาวรีย์สมพระเกียรติแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


ตราสัญลักษณ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือน
ระหว่างปี พ.ศ. 2459 - 2465 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาระดับประกาศนียบัตร พร้อมกับเริ่มเตรียมการเรียนการสอนระดับปริญญา โดยขณะนั้นจัดการศึกษาเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และในระหว่างปี พ.ศ. 2481 - 2490 เริ่มเน้นการเรียนการสอนอันเป็นพื้นฐานของวิชาชีพในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีการจัดตั้งเตรียมมหาวิทยาลัย คือ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในปัจจุบัน)
เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงด้านภาษาและหนังสือหลายประการ เช่น ยกเลิกการใช้อักษร "ฬ" ให้ใช้ "ร,ล" แทน และ ยกเลิกการใช้ "ณ" ให้ใช้ "น" แทน ดังนั้น จึงได้ปรากฏการเขียนชื่อมหาวิทยาลัยในรูปแบบอื่นอีก ได้แก่ "จุลาลงกรน์มหาวิทยาลัย" ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ ในปี พ.ศ. 2487 ก็มีการประกาศยกเลิกการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และให้กลับไปใช้การเขียนภาษาในรูปแบบเดิม การเขียนชื่อมหาวิทยาลัยจึงกลับเป็นแบบเดิม
หลังจากนั้น ในช่วงพ.ศ. 2497 - พ.ศ. 2514 ยังสามารถพบการเขียนนามมหาวิทยาลัยว่า "จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" ซึ่งไม่มีเครื่องหมายทัณฑฆาตที่ "ณ" เช่น พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ฉบับที่ 4, 5 และ 6
ระหว่างปี พ.ศ. 2491 - 2503 มหาวิทยาลัยก็ได้ขยายการศึกษาไปยังสาขาต่าง ๆ ให้กว้างขวางขึ้นโดยเน้นการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นหลัก และตั้งแต่ พ.ศ. 2504 - ถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยได้ขยายการศึกษาระดับปริญญาตรีอย่างกว้างขว้าง พร้อมกับพัฒนาการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และก่อตั้งหน่วยงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนและงานบริการทางวิชาการแก่สังคม
สัญลักษณ์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


พระเกี้ยว ตราประจำมหาวิทยาลัย
พระเกี้ยว เป็นพิจิตรเรขา (สัญลักษณ์) ประจำรัชกาลของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
เพลงพระราชนิพนธ์ มหาจุฬาลงกรณ์ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 11 ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 พระราชทานให้เป็นเพลงประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เสื้อครุยพระราชทาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ใช้เสื้อครุย โดยสีพื้นของสำรด นั้นแบ่งออกเป็น 3 สี ได้แก่
พื้นสำรด "สีเหลือง" สำหรับฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชจักรีวงศ์
พื้นสำรด "สีดำ" สำหรับระดับบัณฑิตและมหาบัณฑิต เพื่อเป็นการถวายความเคารพแด่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันเสาร์
พื้นสำรด "สีแดงชาด" สำหรับระดับดุษฎีบัณฑิต เพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีต่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันอังคาร
จามจุรี เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจุฬาฯ มีความผูกพันกับชาวจุฬาฯ มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัย ในวันที่ 15 มกราคม 2505 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนิน ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระราชทานต้นจามจุรีแก่มหาวิทยาลัย จำนวน 5 ต้น ซึ่งพระองค์ทรงนำมาจากวังไกลกังวล หัวหิน และทรงปลูกด้วยพระองค์เอง พร้อมทั้งพระราชทานพระราชดำรัสว่า "จึงขอฝากต้นไม้ไว้ห้าต้นให้เป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล"
สีชมพู เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย โดยศาสตราจารย์ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้เสนอว่าชื่อของมหาวิทยาลัย คือ พระปรมาภิไธยเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันอังคารและโปรดเกล้าฯ ให้ใช้สีชมพูเป็นสีประจำพระองค์ จึงสมควรอัญเชิญสีประจำพระองค์เป็นสีประจำมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นเกียรติและสิริมงคล

ไม่มีความคิดเห็น: